บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ บัญชีแดง (อังกฤษ: IUCN Red List of Threatened Species หรือ IUCN Red List หรือ Red Data List) บัญชีแดงที่เป็นดัชนีที่เริ่มสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1948 เป็นดัชนีรายชื่อที่สมบูรณ์ที่สุดของสถานภาพของสปีชีส์พืชและสัตว์ต่างๆ ของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) เป็นสถาบันหลักผู้มีอำนาจในการระบุฐานะสถานภาพต่างๆ ของสปีชีส์ นอกจากบัญชีแดงโดยทั่วไปแล้วก็ยังมีบัญชีแดงระดับท้องถิ่น (Regional Red List) ที่รวบรวมขึ้นโดยประเทศ หรือ องค์การต่างๆ ที่ประเมินระดับความเสี่ยงของสปีชีส์ภายในเขตการปกครองของแต่ละท้องถิ่นในความรับผิดชอบ
“บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ” กำหนดขึ้นจากข้อกำหนด (criteria) ที่วางไว้อย่างจำเพาะเจาะจงในการประเมินระดับความเสี่ยงของสปีชีส์และสปีชีส์ย่อยเป็นจำนวนมาก วัตถุประสงค์ของรวบรวมดัชนีรายชื่อก็เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเร่งด่วนเกี่ยวกับความจำเป็นในการอนุรักษ์แก่สาธารณชน และผู้มีอำนาจในการวางนโยบาย รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือประชาคมนานาชาติในการพยายามลดจำนวนการสูญพันธุ์ของสปีชีส์ต่างตามที่ระบุในดัชนี
องค์การที่ร่วมในการประเมินระดับความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสปีชีส์หลักก็รวมทั้งองค์การชีวปักษานานาชาติ (BirdLife International), สถาบันสัตวศาสตร์ (Institute of Zoology) (แผนกค้นคว้าของสมาคมสัตวศาสตร์แห่งลอนดอน (Zoological Society of London), องค์การติดตามผลการอนุรักษ์นานาชาติ (Conservation Monitoring Centre) และกลุ่มชำนัญพิเศษต่างๆ ภายในคณะกรรมการความอยู่รอดของสปีชีส์ของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ การประเมินระดับความเสี่ยงจากองค์การต่างๆ ดังว่ารวมกันได้เป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของสปีชีส์ในบัญชีแดง
“บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ” ถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นดัชนีที่มีความมีจุดมุ่งหมายและมีหลักการที่สุดในการจัดระดับสปีชีส์ตามระดับความเสี่ยงสูญพันธุ์
สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติมีวัตถุประสงค์ที่จะประเมินระดับความเสี่ยงของทุกสปีชีส์ใหม่ทุก 5 ถ้าทำได้ หรืออย่างน้อยก็ทุก 10 ปี ที่ทำโดยวิธีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ (peer review) โดยคณะกรรมการความอยู่รอดของสปีชีส์ (Species Survival Commission (SSC)) ซึ่งเป็นกลุ่มชำนัญพิเศษของสหภาพเอง ผู้มีความรับผิดชอบดัชนีรายชือสปีชีส์, กลุ่มสปีชีส์ หรือ กลุ่มสปีชีส์ของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง หรือในกรณีขององค์การชีวปักษานานาชาติก็จะตรวจสอบสปีชีส์ในอันดับนก
“บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ” ฉบับล่าสุดออกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 2008 ที่เมืองบาร์เซโลนาในประเทศสเปน
สปีชีส์แบ่งออกเป็นเก้าระดับตามข้อกำหนดต่างๆ เช่นอัตราการลดจำนวนประชากร, ขนาดประชากร, บริเวณกระจายทางภูมิภาค และ อัตราการกระจายของประชากร และ การแตกแยกของกลุ่มประชากร
ในการศึกษาและใช้บัญชีแดง คำว่า “สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์” (Threatened species) เป็นกลุ่มที่รวมสามกลุ่มย่อย: สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติสูญพันธุ์, สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ และ สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์